![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEi7irAoOTPcpxGzqQaAvUkhvn8XCmRmKNT1uGkqxMSo2XmBqmeUUKSP5bvHlMkeOxDzC85LGr1rAJEGqqqdIe3Prvmo6nrDJqdhG3vhT6ebaSH1uJ7LijkawEt9QFsJnvggwfcC7MT-06k/s400/Gwansan-dong-01.jpg)
![](https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEge_4W2FVlUhtC16K8c6lXapudcSw9AvAuoXby2cPysHYXxHUUF53mri-UXBaLWUJYwaU5JCZTPzx2weW0F7EepQ9dY5VcK4AlGBSFiOH-SIc4dcNSA3uZyKiHtoX_oYkv5f39X_nGmLbI/s400/plastic-07.jpg)
ที่เกาหลี พลาสติกเป็นหนึ่งในวัสดุที่นิยมใช้กันมาก ใช้คลุมสิ่งต่างๆเพื่อป้องกันฝุ่น ใช้คลุมกับข้าวโดยเฉพาะอาหารประเภทดองในตู้เย็นเพื่อป้องกันกลิ่น กลิ่นของผักกาดดองหรือกิมจินั้นมีความเข้มข้นสูสีกับปลาร้า เวลาขึ้นรถเมล์หรือรถไฟใต้ดินจะรู้ว่าผู้โดยสารคนใดเพิ่งกินข้าวเสร็จ เพราะกิมจินั้นเป็นเครื่องเคียงที่คนเกาหลีกินทุกมื้อ ไม่ว่าจะกินข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว ของกินกับพลาสติกดูจะเป็นของคู่กัน เวลาสั่งกับข้าวหรืออาหารทางโทรศัพท์ กับข้าวต่างๆรวมทั้งน้ำแกงที่สั่งจะใส่มาในจานและชามที่มีพลาสติกห่อครอบอาหาร เพื่อกันการหกหรือกระเด็นออกนอกภาชนะระหว่างการขนส่ง ตามซุปเปอร์มาร์เก็ต พลาสติกและโฟมเป็นของคู่กันในการห่อหุ้มสินค้าประเภทผัก เนื้อ รวมไปถึงผลไม้ ในร้านขายของชำ กล้วยหอมจะวางอยู่บนชั้น โดยกล้วยสามสี่ลูกจะวางอยู่บนถาดโฟมและมีพลาสติกห่อครอบ แม้ว่าพลาสติกจะทำให้รูปโฉมของสินค้าดูใหม่และสะดวกในการจัดตั้ง แต่ดูเหมือนว่าการใช้พลาสติกและถาดโฟมห่อกล้วย เป็นการใช้พลาสติกเกินความจำเป็น
การทาสีตึก โดยการพ่นสีลงบนผิวของตัวตึก แทนการทาถูด้วยแปรงหรือลูกกลิ้ง โอกาสที่ลมจะพัดพาสีที่พ่น แผ่กระจายไปยังสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตึกเป็นไปได้สูง อาจจะเป็นเพราะไม่สามารถตามหาเจ้าของรถที่จอดในบริเวณนั้นได้ ช่างทาสีเลยหาพลาสติกมาคลุมรถ เพื่อป้องกันรถเปื้อนจากละอองของสีสเปร์ย แต่การคลุมรถด้วยพลาสติก ทำให้นึกถึงสำนวน "คลุมถุงชน" ของไทยเรา