ถ่ายภาพ โดย รวิ แสงสุวอ
จากลำเต้ย ลำกลอน ลำซิ่ง สู่ลูกทุ่ง ในผลงานชุดใหม่ของนฤมล ปัดสำราญ (Naruemon Padsamran) ศิษย์เก่าคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่จะจัดแสดงร่วมกับ พงศ์ศิริ คิดดี และกติกา กระจายศรี ซิปโปร์ ณ ชั้น2 หอศิลป์สมบัติเพิ่มพูน (Sombat Permpoon Gallery) จ.กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม - 31 กรกฎาคม 2552
คัดเลือกโดยภัณฑารักษ์ ปนัดดา เลิศหัตถศิลป์ ภายใต้แนวคิดของงานว่า "นิทรรศการจากสามศิลปิน รุ่นใหม่ที่ดัดแปลงการสื่อสารถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ประเพณี และศาสนา ให้เข้ากับโลกของศิลปะ ร่วมสมัย"
นฤมล ปัดสำราญ ลูกสาวคณะหมอลำจากร้อยเอ็ด อดีตสารถีขับรถพาคณะหมอลำของพ่อไปทั่วทิศทั่วแดนแคว้นอีสาน นฤมลเลือกใช้ป้ายประชาสัมพันธ์คณะหมอลำเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์งานศิลปะตั้งแต่เธอยังเป็นนักศึกษาเอกจิตรกรรมชั้นปีที่ ๓ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม โดยเริ่มจากการนำป้ายมาประกอบเป็นรูปทรงของหางเครื่องสาวในรูปแบบของงานสื่อผสม ก่อนที่จะเริ่มหลุดออกจากกรอบสี่เหลี่ยมของเฟรมในชั้นปีที่๔ ผลงานเริ่มมีรูปทรงอิสระหลังจากนั้นในช่วงศิลปนิพนธ์ นฤมลได้เล็งเห็นถึงตัวอักษรภาษาไทย (font) ของป้ายหมอลำที่มีลักษระคล้ายสรีระของผู้หญิง เธอจึงใช้ส่วนโค้งส่วนเว้าของตัวอักษรเหล่านั้นมาสร้างเป็นรูปทรงของหางเครื่อง และใช้สีสันสะท้อนแสงที่เป็นรูปแบบเฉพาะของป้ายหมอลำมาวางในตำแหน่งต่างๆของผลงานเพื่อสื่อถึงจังหวะและทำนองซ้ำๆของดนตรีหมอลำประเภทต่างๆ
ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในชีวิต นฤมลนำเครื่องดนตรีของพ่อมาผสมผสานกับป้ายประชาสัมพันธ์คณะหมอลำ กลายเป็นประติมากรรมยักย้ายส่ายสะโพก โยกแขนโยกขากลางห้องนิทรรศการชั้น ๔ ในหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพกับนิทรรศการ ลูกทุ่ง ลูกทุ่ง ในโครงการศิลปกรรม Brand New 2008 เวลาที่ผู้ชมเดินเข้าไปในห้องแสดงผลงานแลดูคล้ายกับการเดินเข้าไปในเวทีเต้นรำหรือเวทีรำวง คนดูจะเดินวนไปรอบๆประติมากรรมที่ตั้งกระจัดกระจายตามจุดต่างๆของห้องนิทรรศการ ในช่วงปลายปีเดียวกัน นฤมลได้เข้าร่วมโครงการศิลปะนานาชาติสำหรับศิลปินผู้หญิง Womanifesto Residency 2008 ที่ไร่บุญบันดาล จังหวัดศรีสะเกษ
ในเดือนพฤษภาคม ปีต่อมานฤมลนำเสนอผลงานประติมากรรมบริเวณลานด้านหน้าของห้างสรรพสินค้า Central World กับโครงการ Bangkok Bananas แม้ว่าผลงานจะล้มพังพาบไปกับกระแสลมแรงจนกลายเป็นกองไม้ให้คนผ่านไปผ่านมาได้นั่งพักคลายเหนื่อยเมื่อยขา โดยไม่รู้ว่ากองไม้ที่นั่งทับอยู่นั้นเป็นงานศิลปะ นฤมลนำกองไม้นั้นมาซ่อมแซมประกอบขึ้นใหม่เป็นงานประติมากรรมอีกครั้ง ประสบการณ์แสดงงานครั้งนี้เป็นบทเรียนที่ดีสำหรับนฤมลที่ต้องใช้เวลาตั้งตัวสักพัก แม้ว่าหน้าตาของงานอาจจะไม่เหมือนเดิม แต่นิทรรศการครั้งต่อไปทั้งผลงานประติมากรรมและตัวนฤมลคงยืนหยัดด้วยฐานที่แข็งแรงขึ้น