Home / 93 / 94 / 95 / 96 / 97 / 98 / 99 / 00 / 01 / 02 / 03 / 04 / 05 / 06 / 07 / 08 / 09 / 10 / 11 / 12 / 13

Bon Appetit




โดยปกติแล้ว ตามธรรมเนียมของวัฒนธรรมเกาหลี เวลาไปร้านอาหาร ผู้ที่อาวุโสหรืออายุมากที่สุดจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ในบางกรณี คนที่เอ่ยปากเชิญชวนคนอื่นให้มาร่วมวง เป็นคนออกค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารมื้อนั้น โดยผู้ที่ออกค่าใช้จ่ายจะเป็นผู้เลือกร้านและประเภทของอาหารมื้อนั้นๆ แต่ในหมู่เพื่อนฝูง หนุ่มสาวและวัยรุ่นที่กินข้าวด้วยกันเป็นประจำ มักจะผลัดกันออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดของทุกคนในกลุ่ม โดยผลัดกันจ่ายคนละมื้อหมุนเวียนกันไปจนกว่าจะครบจำนวนคนในกลุ่ม ที่เกาหลีไม่นิยมให้ทิป

ในร้านอาหาร เมนูหรือรายการอาหารทั้งในรูปแบบที่เป็นเล่ม หรือที่พิมพ์บนป้ายไวนิล ส่วนใหญ่เป็นภาษาเกาหลีและไม่มีรูปภาพประกอบ รายชื่ออาหารแต่ละจาน ต้องอาศัยการฝึกฝนในการออกเสียงให้ถูกสำเนียง พนักงานเสิร์ฟจึงจะเข้าใจและจดรายการอาหารถูก เช่น โอจิงออโบกกิม-ปลาหมึกผัดเผ็ด คิมจิจิเกะ-แกงกิมจิ ที่มีรสชาติเปรี้ยวเผ็ดคล้ายแกงส้มปักษ์ใต้ ซุนดูบุจิเกะ-ซุปเต้าหู้ชนิดขาวอ่อน บิบิมบับ-ข้าวยำเกาหลี ซำเคยทัง-ไก่ตุ๋นโสม พูลโกกี-เนื้อย่าง แม่กจู-เบียร์ โซจู-เหล้าโซจูในขวดสีเขียว ขนาดประมาณเบียร์ขวดเล็ก มีรสชาติหวานและร้อนลวกคอคล้ายกับเหล้าขาวของไทย นิยมดื่มกับอาหารประเภทย่าง แต่ถ้าออกเสียงไม่ได้ก็ต้องจดจำรูปร่างลักษณะของตัวอักษรกลมๆขีดๆของชื่ออาหาร และใช้มือจิ้มหรือชี้สื่อสารกับพนักงานเสิร์ฟ

อาหารที่สั่งมักจะมาพร้อมกับเครื่องเคียงเสิร์ฟในชามขนาดเล็ก ที่ประกอบด้วยผักดองกิมจิ สาหร่ายแผ่นอบกรอบ ปลาหมึกเส้น ปลาแอนโชวี่ ถั่วงอกลวก เต้าหู้ กระเทียม และผักนานาชนิด เครื่องเคียงจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน และแต่ละร้านอาหารจะเสริฟ์เครื่องเคียงต่างชนิดกัน เครื่องเคียงเมื่อกินหมดแล้ว สามารถบอกพนักงานเสริ์ฟให้ช่วยเติมได้ บางครั้งคิดว่าแค่กินข้าวเปล่ากับเครื่องเคียงก็เพียงพอแล้วสำหรับอาหารมื้อนั้นๆ แต่คนเกาหลีมีแนวคิดเกี่ยวกับการกินอาหารที่ว่า กินเหลือดีกว่าไม่พอกิน กับข้าวจึงมักเต็มโต๊ะ และนิยมกินกับแกล้มในวงเหล้าคล้ายกับคนไทย ต่างจากฝรั่งอเมริกันหรืออังกฤษ ที่ไม่นิยมกับแกล้ม จะมีบ้างก็เพียงถั่วและมันฝรั่งอบกรอบ กับแกล้มที่นิยมในเกาหลี คือปลาหมึกย่าง และแกงส้มต้มยำ ปลาหมึกนิยมกินกันมากในเกาหลี เป็นลำดับรองลงมาจากเนื้อวัว และเนื้อหมู

เวลาที่พนักงานนำอาหารมาเสิร์ฟที่โต๊ะมักจะพูดว่า มาชิเกะ ดือซอโย หรือทานให้อร่อย

'Masitge deuseyo'is a common phrase to say before meals, which means 'enjoy your meal' or 'help yourself'. Traditionally, the most senior person or a person who invites other people will pay the bill. However, among friends, young people or teenagers who regularly eat together will take turns to pay for meals. Tipping is not a common practice in Korea. Generally, most meals come with side dishes; kimchi, cucumber, radish, bean sprouts, anchovies, tofu, garlic, etc. Most food are spicy and serve with vegetables; however, for the vegans or vegatarians, Korea is not an easy place.

Slender long-legged bloodsucking mosquito



ยุงเกาหลีผ่านอากาศร้อน เย็นและหนาว ฤดูหนาวอุณหภูมิที่เกาหลีติดลบใกล้เคียงกับความเย็นยะเยือกในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย หรือยุโรปเหนือ ยุงที่นี่จึงตัวใหญ่แข็งแรง มีขนาดใหญ่กว่ายุงสายพันธ์ไทยเกือบสองเท่า แต่เนื่องจากขนาดที่ใหญ่ ทำให้การเคลื่อนไหวช้า ยุงที่นี่จึงง่ายต่อการกำจัดด้วยมือเปล่า แต่ดูเหมือนว่าคนเกาหลีจะรังเกียจและหวาดกลัวยุงมาก เวลาที่เห็นยุงบินในห้อง เขาจะละทิ้งการงานที่ทำอยู่และไล่ล่ายุง ไม่รู้เหมือนกันว่าเวลาที่คนเกาหลีมาเที่ยวเมืองไทย เขาจะทำใจได้ไหมกับยุงสายพันธ์ไทยที่บินกันว่อน คล่องแคล่วว่องไวและสามารถดูดเลือดได้ทุกส่วนในร่างกาย ตั้งแต่หน้าผากลงมายันฝ่าเท้า

form




ประติมากรรมกลางแจ้ง (Outdoor Sculptures) สามารถพบเห็นได้บริเวณสวนหย่อมรอบๆหอศิลป์ ย่านแกลเลอรี่ศิลปะ ลานกลางแจ้งใจกลางเมือง ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมรูปแบบนามธรรม รูปทรงคนที่ตัดทอนรายละเอียด หรือการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของคน เช่น ประติมากรรมรูปผู้ชายนั่งชันเข่า ที่ถูกยืดสัดส่วนให้ยาวขึ้น คล้ายกับการยืดภาพคนในโปรแกรมโฟโต้ช็อป

ประติมากรรมที่พบเห็นส่วนใหญ่ มักไม่มีการทาสีทับเพื่อเปลี่ยนแปลงสีสันของผลงาน แต่ดูเหมือนว่าศิลปินจะคำนึงถึง และให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ หรือลักษณะเฉพาะของวัสดุที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งวัสดุแต่ละชนิดต่างก็มีพื้นผิว สีสัน และความทึบโปร่งที่แตกต่างกัน

ประติมากรรมขนาดใหญ่ เช่น อนุสาวรีย์บุคคลสำคัญของชาติ หรือวีรบุรุษในประวัติศาสตร์ พบเห็นน้อยมากทั้งในกรุงโซลและจังหวัดอื่น ๆ

In Seoul and other big cities, outdoor sculptures can be found in the museum gardens, gallery districts and landmarks. Most sculptures are created in an abstract or semi-abstract form. Sculptors seem to concern on a characteristic of the materials; texture, colour and weight. We can see a very small number of monuments.

intermission







น้ำล้นจากขวดที่กรอกนานเกือบหนึ่งนาที ถึงจะรู้สึกตัว
คงได้เวลาพักแล้ว

Bigger Than Life


Jonathan Borofsky, Hammering Man, steel, aluminum, 1000x49x2200 cm.
Hammering Man, a monumental kinetic sculpture by the american artist Jonathan Borofsky was installed in the heart of downtown Seoul in August 2008. The hand of the sculpture moving in a hammering gesture every one minute. The sculpture is 22 metres in height and 50 tons in weight.

โจนาธาน โบรอฟสกี้ ศิลปินชาวอเมริกัน เกิดในปี ค.ศ. ๑๙๔๒ ศึกษาระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส และระดับปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเยล ในปี ๑๙๖๖
ผลงานที่เป็นที่รู้จักหรือสร้างชื่อเสียงให้กับเขาคือ 'Hammering Man' ประติมากรรมขนาดใหญ่ที่สามารถขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวได้ (kinetic sculpture) แขนด้านหนึ่งของประติมากรรมชิ้นนี้ขยับขึ้นลง ในท่วงท่าการตอกตะปูทุกๆช่วงเวลาหนึ่งนาที ผลงาน Hammering Man ถูกติดตั้งตามเมืองต่างๆทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ เช่น Frankfurt, Seattle, New York City, Minneapolis, Los Angeles, Basel, Seoul และ Washington, D.C..

ผลงาน Hammering Man ในกรุงโซลมีความสูงถึง ๒๒ เมตร และหนัก ๕๐ ตัน เปิดให้เข้าชมในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ปี ๒๕๕๒ ติดตั้งในบริเวณสวนสาธารณะที่ถูกสร้างและออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรมชาวดัชต์ ภูมิทัศน์ ม้านั่งยาวและแสงไฟในสวนถูกออกแบบให้สัมพันธ์กับผลงานประติมากรรม

Moving Cardboards



Taguchi Yukihiro, installation work (animation on the screen inside of cardboard tunnel), 2009, Re:Membering -Next of Japan- Group Exhibition, Alternative Space LOOP, Korea. Period: May 14 - June 25, 2009.
The exhibition hosted by Doosan Gallery, focus on twenty Japanese artists in their 30's who explore and interpret the relationship between themselves and the society with their own personal amusements and memories. These artists are likely to be a next generation of artists after 'Super Flat' and 'Japan Ani Pop'

Yukihiro Taguchi was born in Osaka, 1980 and graduated from Tokyo National University of Fine Arts and Music, Painting Department in 2004. He's been living and working in Berlin since 2005. http://yukihirotaguchi.com/.

ยูคิฮิโระ ทากูจิ แต่คนญี่ปุ่นจะเรียกศิลปิน โดยการนำเอานามสกุลขึ้นก่อนชื่อ ทากูจิ ยูคิฮิโระ ศิลปินชาวโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เอกจิตรกรรมสีน้ำมัน ก่อนที่จะย้ายถิ่นที่อยู่ไปปักหลักที่เมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ. ๒๐๐๕

ในนิทรรศการกลุ่มที่นำเสนอศิลปินญี่ปุ่นช่วงวัยสามสิบที่กำลังมาแรงจำนวน ๒๐ คน ที่แกลเลอรี่ลูบ กรุงโซล ทากูจิเป็นหนึ่งในศิลปินที่ได้รับการคัดเลือก ผลงานที่เขานำเสนอเป็นวีดีโออินสตอลเลชั่น โดยสร้างอุโมงค์ที่ก่อตัวจากกล่องกระดาษหรือลังกระดาษที่พบเห็นได้ตามร้านขายของชำหรือซุปเปอร์มาร์เก็ต เมื่อเดินเข้าไปที่ด้านในสุดของอุโมงค์ จะเห็นภาพเคลื่อนไหวบนจอสีขาว เป็นกล่องกระดาษเคลื่อนที่ไปตามจุดต่างๆของถนนราวกับมีชีวิต กล่องเดินเรียงกันเป็นแถว ไต่ขึ้นไปบนรถยนต์ที่จอดอยู่ข้างทาง หรือค่อยๆต่อตัวเรียงกันเป็นแนวกำแพง หรือวิ่งเป็นแถววนคล้ายงูกินหาง บางครั้งกล่องยังถูกนำมาใช้ตีแทนกลอง กล่องแต่ละกล่องเปรียบได้กับหน่วยหนึ่งหน่วย ที่พร้อมจะก่อตัวขึ้นเป็นรูปทรงหรือโครงสร้างต่างๆมากมายหลายแบบ ในช่วงท้ายของวีดีโอ ภาพที่เห็นเป็นการเดินเรียงแถวของกล่องจากด้านนอกแกลเลอรี่ลูบ เดินเรียงกันขึ้นบันไดและมาก่อตัวเป็นห้องที่มีโครงสร้างคล้ายอุโมงค์ กล่องที่เรียงตัวกันเป็นอุโมงค์เล็กๆในแกลเลอรี่ช่วยควบคุมไม่ให้แสงไฟในแกลเลอรี่เข้าไปรบกวนจอภาพที่ฉายงานวีดีโอ และยังเป็นคล้ายการสร้างพื้นที่ส่วนตัวให้กับศิลปิน คนดู และทำให้ผลงานชิ้นนี้เป็นเอกเทศจากผลงานศิลปะชิ้นอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
Home / 93 / 94 / 95 / 96 / 97 / 98 / 99 / 00 / 01 / 02 / 03 / 04 / 05 / 06 / 07 / 08 / 09 / 10 / 11 / 12 / 13